Imedbot 2014

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หลังจากที่ TCELS ได้จัดโครงการประกวดสุดยอด ไอเดียหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ภายใต้ชื่อ "i,MedBot 2014 : Bring Life, Brighten the World" โดยได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจไม่จำกัดเพศ วัย อายุ และการศึกษา ทั้งประเภทเดี่ยวและประเภททีม ส่งแนวคิดหุ่นยนต์ทางการแพทย์นั้น ปรากฎว่ามีผู้ส่งแนวคิดเข้าประกวดถึง 47 แนวคิด ซึ่งมีทั้ง วิศวกร นักออกแบบ นักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์ อาจารย์ นิสิต นักศึกษา นักออกแบบ ตลอดจนถึงประชาชนทั่วไป

ดร.นเรศ กล่าวว่า คณะกรรมการรอบคัดเลือกได้พิจารณาข้อเสนอแนวคิดจากทั้งหมด 47 ทีมและคัดเลือก 10 ทีมเพื่อมานำเสนอแนวคิดในรอบชิงชนะเลิศ  เพื่อคัดเลือกหาผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศอีก 2 ทีม ซึ่งผลการตัดสินทีมชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม AIM Lab Mahidol จากแนวคิดหุ่นยนต์เสริมกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติค รับเงินรางวัล 150,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม BIE KMUTT จากแนวคิด Swarm robot of autism รับเงินรางวัล 100,000 บาท และ รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Vioteche จากแนวคิดอุปกรณ์ฆ่าเชื้อช้อน-ส้อมอัตโนมัติ  รับเงินรางวัล 50,000 บาท

อย่าง ไรก็ตาม ดร.นเรศ กล่าวว่า แม้จะมีเพียง 3 ทีมที่ได้รับรางวัลไปในครั้งนี้ แต่ทีมที่เข้ารอบทั้ง 10 ทีม จะได้รับการผลักดันจาก TCELS ในการช่วยประสานผู้ประกอบการให้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับเจ้าของแนวคิด เพื่อขยายผลไปสู่ธุรกิจ ทั้งนี้เนื่องจากในทุก ๆ แนวคิดที่นำเสนอมา ล้วนสามารถต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงได้ทั้งสิ้น

สำหรับ หุ่นยนต์กระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติกนั้น เจ้าของแนวคิดคือ ดร.ปัณรสี ฤทธิประวัติและทีมวิจัย เห็นถึงปัญหาของเด็กออทิสติกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนนักบำบัดที่มีอยู่ ส่งผลให้เด็กมีภาวะออทิศติก สเปกตรัมบางคนอาจอาจได้รับโอกาสในการบำบัดหรือปรับพฤติกรรมไม่สม่ำเสมอและ ต่อเนื่อง จึงได้เกิดแนวคิดในการนำหุ่นยนต์เสริมกระตุ้นพัฒนาการขึ้นมา โดยมีบทบาทเป็นของเล่น เพื่อนเล่น  เป็นครูผู้สอนทักษะหรือพฤติกรรมทางสังคมให้กับเด็กออทิสติก หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นฯ ดังกล่าวมีทั้งสิ้น 4 ตัว ด้วยกันคือ หุ่นยนต์ช่างทำ เน้นการฝึกทักษะด้านการเลียนแบบ หุ่นยนต์ตัวที่สองและสามคือ หุ่นยนต์ช่างพูดและช่างคุย เน้นฝึกทักษะการพูด หุ่นยนต์ตัวสุดท้ายคือหุ่นยนต์ฟ้าใส ที่ได้รวมทุกฟังก์ชันของหุ่นยนต์ 3 ตัวแรกเข้าไว้ด้วยกัน จึงสามารถเป็นเครื่องมือในการฝีกการเลียนแบบและฝึกทักษะการพูด รวมถึงการปรับพฤติกรรมเด็กไปในระหว่างการฝึกต่าง ๆ

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ TCELS Hotline 02-6445499 หรือ ที่ http://imedbot.tcels.or.th

Visitors: 211,233